งานศพ

พิธีงานศพ

เกิด แก่ เจ็บ และก็ " ตาย "เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีไปได้ จะต่างกันก็เพียงเวลา ที่จะมาถึงเร็วหรือช้าเท่านั้น เมื่อบุคคลหมดลมหายใจแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของญาติพี่น้อง ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะดำเนินการเกี่ยวกับ พิธีศพ ตามลัทธิประเพณีนิยม ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ตาย และเป็นการไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ทำอย่างไรเมื่อมีผู้เสียชีวิต

พิธีศพ - ลำดับขั้นตอนการปฎิบัิติ

หลังจากมีผู้เสียชีวิต จะมีลำดับขั้นตอนการปฎิบัติที่ควรทราบเกี่ยวกับพิธีการจัดงานศพ ดังนี้

1. การแจ้งตาย

2. การนำศพไปวัด

3. การอาบน้ำศพ การรดน้ำศพ

4. การจัดงานบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรม

5. การบรรจุเก็บศพ

6. การฌาปนกิจศพ

7. การเก็บอัฐิ

8. การลอยอังคาร

1. การแจ้งตาย

- ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะออกใบรับรองแพทย์ให้ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงเหตุการณ์ตาย แล้วนำใบรับรองแพทย์พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิตไปยังสำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือที่ทำการเขต(อำเภอ) ในเขตที่โรงพยาบาลนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอรับใบมรณบัตร แต่โรงพยาบาลบางแห่งจะออกใบมรณบัตรให้เอง หรือช่วยดำเนินการให้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยญาติของผู้เสียชีวิต จะต้องนำทะเบียนบ้านไปให้โรงพยาบาลด้วย

- ถึงแก่กรรมที่บ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้แทนเจ้าของบ้าน จะต้องไปแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกใบรับรองการตาย และนำไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น (แพทย์ประจำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนัน) ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตที่บ้านเรือนนั้นตั้งอยู่ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือ

พบศพ เพื่อขอใบมรณบัตร

- ถึงแก่กรรมเนื่องจากอุบัติเหตุ หรือ ถูกฆาตกรรม เจ้าของบ้าน หรือผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพ จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาชันสูตรศพ เพื่อทำหลักฐานการเสียชีวิต ภายในเวลา 24 ชั่งโมง นับแต่เวลาตายหรือพบศพ โดยในระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแพทย์ยังไม่ได้ตรวจศพ ห้ามเคลื่อนย้ายศพ หรือทำให้ศพเปลี่ยนสภาพ หรือนำยามาฉีดศพ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแพทย์ได้ตรวจชันสูตรศพแล้ว ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องไปขอหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งขอใบชันสูตรศพจากแพทย์ เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบีบนท้องถิ่น ในการขอใบบรณบัตร โดยแจ้งด้วยว่า จะนำศพไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดใด โดยระบุในช่องที่ว่า เผา ฝัง เก็บ หรืออุทิศ

- เมื่อได้ใบมรณบัตรมาแล้ว ควรถ่ายสำเนาเอกสารที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ออกใบมรณบัตรให้ แล้วให้เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาเอกสารด้วย เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนในมรณบัตรตัวจริงต้องนำไปแจ้งต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ผู้เสียชีวิตมีภูมิลำเนาอยู่ พร้อมนำทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไปด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จำหน่ายได้ว่า เสียชีวิตเมื่อใด ทั้งนี้จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ภายในเวลา 15 วัน

2. การนำศพไปวัด

- เมื่อติดต่อวัดที่จะนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลเรียบร้อยแล้ว การนำศพไปวัดอาจติดต่อขอให้ทางวัดจัดรถไปรับศพ หรือแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ขอให้จัดรถส่งศพให้ และนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป มาชักศพที่จะเคลื่อนไปสู่วัดที่นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศล

- ก่อนที่จะนำศพไปวัดควรจัดเตรียมเสื้อผ้าจากทางบ้านหรือโรงพยาบาลให้เรียบร้อยก่อน พร้อมจัดเตรียมผ้าแพรสำหรับคลุมศพและรูปภาพที่จะตั้งหน้าศพ **

- ถ้าผู้ถึงแก่กรรมเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่สมควรได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พึงแจ้งไปยังต้นสังกัดของผู้นั้น แล้วเดินเรื่องไปยังกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและเครื่องประกอบเกียรติศพ ต่อไป ***

หมายเหตุ : การขอรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและเครื่องประกอบเกียรติศพ

ติดต่อ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง โทร. 0-2221-0873 , 0-2221-7182 และ 0-2222-2735

3. การอาบน้ำศพและการรดน้ำศพ

การอาบน้ำศพ

- เป็นการชำระร่างกายศพให้สะอาด และแต่งตัวให้ผู้เสียชีวิต ถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เป็นหน้าที่ของบุตรธิดาโดยเฉพาะ ไม่นิยมเชิญคนภายนอก

- การอาบน้ำให้ศพกระทำด้วยน้ำอุ่นก่อนแล้วล้างด้วยน้ำเย็น ฟอกสบู่ ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด

- เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว ก็เอาน้ำขมิ้นทาตามร่างกาย ตลอดถึงฝ่ามือฝ่าเท้าแล้วประพรมด้วยน้ำหอม

- ถ้าเป็นศพที่ตนเคารพนับถืออย่างยิ่ง เช่น บิดา มารดา ฯลฯ ก็นิยมเอาผ้าขาว หรือผ้าเช็ดหน้า ซับใบหน้า ฝ่ามือทั้งสองและฝ่าเท้าทั้งสอง เพื่อถอดเอารอยหน้ารอยฝ่ามือและฝ่าเท้า ไว้กราบไหว้บูชา หรือใช้เป็นผ้าประเจียด

- ต่อจากนั้นก็แต่งตัวศพ ตามฐานะของผู้ตาย เช่น เป็นข้าราชการก็แต่งเครื่องแบบเป็นต้น

- เมื่อแต่งตัวศพเสร็จเรียบร้อย จึงนำศพขึ้นนอนบนเตียงสำหรับรอการรดน้ำต่อไป

การตั้งเตียงรดน้ำศพ

- นิยมตั้งเตียงไว้ด้ายซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย โดยตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ด้านบนศรีษะของศพ นิยมให้ศพนอนหงายหันด้านขวามือของศพ หรือด้านปลายเท้าของศพให้อยู่ทางผู้ที่มาแสดงความเคารพ และใช้ผ้าใหม่ๆหรือผ้าแพรคลุมตลอดร่างศพนั้นโดยเปิดหน้าและมือขวาไว้เท่านั้น

การรดน้ำศพ

- เจ้าภาพควรเตรียมน้ำอบ น้ำหอม พร้อมขันใส่น้ำผสมน้ำอบน้ำหอม และขันเล็กสำหรับตักน้ำยื่นให้แขก และขันขนาดใหญ่มีพานรองรับน้ำที่รดมือศพด้วย หรือจะขอร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ฌาปนสถานจัดเตรียมให้ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน

- ก่อนจะเริ่มพิธีรดน้ำศพนั้น นิยมให้เจ้าภาพ หรือเชิญผู้มีอาวุโสเป็นประธานในพิธีจุดเครื่องบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจุดเครื่องทองน้อย (หรือธูปเทียน) ทางด้านศรีษะศพ แล้วจึงเริ่มพิธีรดน้ำศพต่อไป โดยเวลาที่นิยมในการรดน้ำศพโดยทั่วไปคือเวลา 16.00-17.00 น.

- นิยมให้ลูกหลาน ผู้ใกล้ชิด ทำการรดน้ำศพเสียก่อน ถึงเวลาเชิญแขกเพื่อมิให้คับคั่งเสียเวลารอคอยของแขกผู้มาแสดงความเคารพ

- เจ้าภาพควรจัดคนให้ทำหน้าหน้าที่คอยรับรองและเรียนเชิญแขกเข้ารดน้ำศพโดยนิยมให้ลูกหลาน หรือญาติฝ่ายเจ้าภาพทำหน้าที่

- เมื่อแขกรดน้ำศพหมดแล้ว จึงเชิญท่านผู้มีอาวุโสสูงสุดที่อยู่ในที่นั้น เป็นผู้แทนรดน้ำศพ ด้วยน้ำหลวงอาบน้ำศพ หรือเป็นผู้รดน้ำศพเป็นคนสุดท้าย

- เมื่อท่านผู้มีอาวุโสสูงสุดที่อยู่ที่นั้น ได้รดน้ำหลวงอาบศพหรือได้รดน้ำศพแล้วถือกันว่าเป็นอันเสร็จพิธีรดน้ำศพ ไม่นิยมให้ผู้ใดผู้หนึ่งรดน้ำศพอีกต่อไป

หน้าที่ประธานในพิธีรดน้ำหลวงอาบศพ

- ประธานในพิธีรดน้ำหลวงอาบศพ ก่อนจะรับน้ำหลวงจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ต้องถวายคำนับไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ 1 ครั้ง ก่อนรับน้ำหลวงอาบศพจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เมื่อรับแล้ว ให้รดน้ำหลวงอาบศพ โดยเทตรงบริเวณทรวงอกศพ แล้วจึงรดน้ำขมิ้นกับน้ำอบไทย จากนั้นถวายความเคารพในทิศทางเดิม เป็นอันเสร็จพิธี

วิธีปฎิบัติในการรดน้ำศพ

- ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งมีอาวุโสสูงกว่าตน ก่อนจะทำพิธีรดน้ำศพ นิยมนั่งคุกเข่า น้อมตัวยกมือไหว้พร้อมกับนึกขอขมาโทษต่อศพนั้นว่า "กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง โหตุ" (ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่าน ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

- เมื่อยกมือไหว้ขอขมาโทษต่อศพจบแล้ว ก็ถือภาชนะสำหรับรดน้ำด้วยมือทั้งสอง เทน้ำลงที่ฝ่ามือขวาของศพพร้อมกับนึกในใจว่า "อิทัง มะตะกะสะรีรัง อิสิญจิโตทะกัง วิยะ อโหสิกัมมัง" (ร่างกายที่ตายไปแล้วนี่ ย่อมเป็นอโหสิกรรม ไม่มีโทษ เหมือนน้ำที่รดแล้วฉะนั้น)

- เมื่อรดน้ำศพเสร็จแล้ว นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมกับอธิฐานว่า "ขอจงไปสู่สุคติๆเถิด"

การจัดศพลงหีบ

- เมื่อเสร็จพิธีรดน้ำศพแล้ว สำหรับการจัดศพลงหีบนั้น นิยมมอบให้เจ้าหน้าที่ของวัด เป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆ ตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย แล้วจะได้ตั้งบำเพ็ญกุศพต่อไป สำหรับศพที่ได้รับพระราชทานโกศหรือหีบหลวง ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการ

การตั้งศพ

- เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนเคารพศพไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (คือให้ตั้งตะเกียงมีโคมและหรี่ไฟไว้ที่ปลายเท้าศพ 1 ที่)

- ในพิธีทางราชการ เมื่ออาบน้ำศพและบรรจุศพลงหีบ นำขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป (หรือ 20 รูป) สดับปรกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพและญาติๆกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี

- สำหรับศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยม นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป (หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ) เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพหรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร จีวร สบง ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าก็ได้) เมื่อพระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธีการตั้งศพ

การจัดสถานที่ตั้งศพ

- กรณีหากผู้ตายเป็นผู้ใหญ่แห่งตระกูล และบริเวณบ้านเรือนกว้างขวางเหมาะสมแก่การตั้งศพบำเพ็ญกุศลได้ ก็นิยมจัดตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เพราะโดยมากก็นิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้เป็นเวลานานอย่างน้อยก็ครบ 100 วัน จึงจะทำพิธีพระราชทานเพลิงศพหรือทำการฌาปนกิจศพ

- กรณีผู้ตายเสียชีวิตที่บ้านแต่สถานที่ที่บ้านไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ตั้งศพ มักนิยมนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดใดวันหนึ่งใกล้บ้าน หรือวัดที่เหมาะสมแก่ฐานะของผู้ตาย

- กรณีผู้ตายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นิยมนำศพไปจัดตั้งที่วัด เพราะถือกันว่าไม่ควรนำศพเข้าบ้านและถือปฎิบัติเช่นนั้นโดยทั่วไป

4. การจัดงานบำเพ็ญกุศล

การสวดพระอภิธรรม

- การสวดพระอภิธรรม ประจำคืน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "สวดหน้าศพ" นิยมเริ่มจัดทำตั้งแต่วันตั้งศพเป็นต้นไปทุกคืน

- โดยนิยมสวด 1 คืน , 3 คืน , 5 คืน , 7 คืน (ในบางรายหลังจากทำบุญ 7 วันแล้ว อาจจะสวดพระอภิธรรม สัปดาห์ละ 1 วัน จนครบ 100 วัน หรือจนถึงวันฌาปนกิจศพ)

- ตามประเพณีนิยมแต่โบราณ จะนิมนต์พระสวดอภิธรรม 4 รูป และสวด 4 จบ พระสงฆ์ จะลงสวดเวลาตามแต่ละท้องถิ่น (ปกติจะนิยมเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น.)

- ต้องจัดให้มีเครื่องไทยธรรมพร้อมผ้าสบงเพื่อถวายพระสวดอภิธรรม และบังสุกุลให้ผู้เสียชีวิต (ปัจจุบัน ทางฌาปนสถานหรือทางวัด จะมีบริการจัดหาให้)

- ปัจจัยถวายพระ 4 รูป ตามแต่จะศรัทธา

- ตามประเพณีนิยมมักมีอาหารว่างเลี้ยงแขกที่มาฟังสวดทุกคืน

- ถ้าผู้ตายเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ หรือเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย นิยมเปิดโอกาสให้มีการจองเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้มีพระคุณ หรือ มีอุปการคุณแก่ตน ตามประเพณีนิยมของสังคม

การจัดงานทำบุญ

- ตามประเพณีไทย ก่อนที่จะทำการฌาปนกิจศพ จะมีการบำเพ็ญกุศลทำบุญครบรอบวันตาย (ครบ 7 วัน , 50 วัน , 100 วัน) แต่ปัจจุบันจะนิยมจัดงานบำเพ็ญกุศล 7 วัน

- ส่วนมากจะนิมนต์พระสงฆ์ โดยสวดพระพุทธมนต์และฉันเพล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย (โดยญาติ จะจัดอาหารจัด , เครื่องสังฆทานไทยธรรม มาเอง หรือให้ฌาปนสถานหรือทางวัดดำเนินการก็ได้)

5. การบรรจุเก็บศพ

- การบรรจุเก็บศพ จะกระทำในวันสุดท้ายของการสวดพระอภิธรรม โดยสวดศพจบสุดท้ายเสร็จแล้วจะนำศพไปเก็บที่สุสาน หรือ ที่ศาลา ... หลังจากสวดพระอภิธรรมตามกำหนดแล้ว หากญาติประสงค์จะเก็บศพไว้ก่อน เพื่อรอญาติหรือรอโอกาสอันเหมาะสม ที่จะทำการฌาปนกิจหรือบรรจุศพฝังไว้ในสุสานต่อไป

- ญาติจะกำหนดเองว่าจะเก็บศพวันใด กี่วัน โดยทำการตกลงกับทางวัดหรือฌาปนสถาน

- ญาติจะต้องเตรียมผ้าไตร ดอกไม้ ธูป เทียน ลูกดินห่อด้วยกระดาษสีขาว-ดำ ใส่ถาดไว้เพื่อแจกแขกผู้มาร่วมงานคนละก้อน จะมีดอกไม้ด้วยก็ได้ (ปัจจุบัน ส่วนมากทางวัดหรือทางฌาปนสถาน จะมีบริการจัดหาให้)

- นิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล 1 รูป ไว้ในวันสุดท้ายของการสวดพระอภิธรรมเพื่อดำเนินการบรรจุศพไว้ โดยประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ของวัดหรือฌาปนสถาน

ขั้นตอนการปฎิบัติในพิธีบรรจุศพ

- เจ้าหน้าที่จัดสถานที่ประกอบพิธีบรรจุศพ ณ บริเวณหน้าที่ตั้งศพ

- เชิญประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุล 1 ไตร (บางงานจะไปทอดผ้าบังสุกล ณ สถานที่เก็บศพ) แล้วนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล

- เชิญประธานในพิธีวางห่อดินขาว-ดินดำและช่อดอกไม้บนพานหน้าศพเป็นอันดับแรก

- เชิญผู้ร่วมพิธีวางห่อดินขาว-ดินดำและช่อดอกไม้บนพานหน้าศพ ตามลำดับ

- เมื่อทุกคนวางห่อดินและช่อดอกไม้เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเคลื่อนศพไปยังสถานที่เก็บศพ

- บรรดาญาติและผู้ที่เคารพนับถือ จะจุดธูปเทียนวางพวงมาลัยหรือช่อดอกไม้เป็นอันดับสุดท้าย

6. การฌาปนกิจศพ

- การฌาปนกิจศพ ได้แก่ การปลงศพ หรือ เผาศพ เจ้าภาพจะต้องกำหนดวันที่จะทำการฌาปนกิจศพที่แน่นอน แล้วทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ของวัดหรือฌาปนสถานก่อนทั้งนี้เพื่อเป็นการเลือกจองวันและเวลาที่ต้องการ

- กรณีบรรจุเก็บศพไว้ก่อนที่จะทำการฌาปนกิจ จะต้องนำศพมาตั้งสวดพระอภิธรรมอีกวาระหนึ่ง โดยสวดก่อน 1 คืนแล้ววันรุ่งขึ้นจะทำพิธีฌาปนกิจ

- หรืออาจจะไม่ตั้งสวดพระอภิธรรมอีก เพียงแต่ยกศพขึ้นตั้ง ในตอนเช้าเลี้ยงพระเพลและนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นเทศน์พระธรรมเทศนาในบ่าย แล้วทำการฌาปนกิจศพในตอนเย็น การกระทำเช่นนี้มักเรียกกันว่า "ตั้งเช้า เผาเย็น"

- ถ้าหากศพนั้นเป็นบุพการี สามี ภรรยา ก็ควรตั้งสวดพระอภิธรรมอีกคืนหนึ่งก่อน เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงผู้ตายอีกทั้งเป็นการบำเพ็ญกุศลเพิ่มเติมให้อีก

การบำเพ็ญกุศลหน้าศพ

ในวันที่จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ หรือฌาปนกิจศพ นั้น จะนิยมบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตายก่อน เช่น

- จัดพิธีบวชลูกหลานเป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่เรียกว่า "บวชหน้าไฟ"

- นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล (อาจจะเลี้ยงพระเพิ่มจำนวนเท่าใดก็ได้)

- จัดให้มีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์

- นิมนต์พระสงฆ์สวดมาติกา - บังสุกุล (จำนวนพระสงฆ์ 10 รูปหรือนิยมเท่าอายุผู้ตายหรือตามศรัทธา)

- ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธีบำเพ็ญกุศลหน้าศพ

เจ้าภาพ จะต้องเตรียมอุปกรณ์หลักๆ ได้แก่

1. เครื่องไทยธรรม ผ้าสบงถวายพระสวดมนต์ฉันเพล

2. เครื่องไทยธรรมผ้าไตร และเครื่องติดกันเทศน์ถวายพระเทศน์

3. ผ้าไตรประธานเพื่อทอดบังสุกุล และมหาบังสุกุลก่อนทำการฌาปนกิจ

4. ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกาบังสุกุลตามจำนวนพระสวด (ส่วนใหญ่มักจะนิมนต์ 10 รูป

แต่บางแห่งจะนิมนต์พระทั้งวัดหรือตามจำนวนอายุของผู้ตาย)

5. เตรียมดอกไม้จันทน์ให้กับแขกผู้มาร่วมงาน และดอกไม้จันทน์สำหรับประธานพิธี

(ปัจจุบันทางวัดหรือฌาปนสถาน จะมีบริการจัดเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ให้ทั้งหมด แต่

หากทางเจ้าภาพอยากจะจัดหามาเองก็ได้)

เคลื่อนศพไปสู่เมรุ

- หลังจากบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย ก่อนจะเคลื่อนศพไปตั้งที่เมรุนั้น นิยมให้ลูกหลานคนใกล้ชิ้นผู้ตายได้ทำพิธีขอขมาศพ เพื่อเป็นการอภัยโทษที่เคยล่วงเกินต่อกัน โดยตั้งจิต หรือกล่าวคำขอขมาต่อศพนั้นว่า "กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง โหตุ" (ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่าน [อาจจะออกนามผู้ตามก็ได้] ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ขอท่านได้โปรดอโหสิกรรมด้วยเถิด)

พิธีแห่ศพเวียนเมรุ

- การเคลื่อนศพต้องนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เป็นผู้นำศพ เวียนรอบเมรุ 3 รอบ

- การเวียนต้องเวียนจากขวาไปซ้ายของเมรุ คือ เดินเวียนซ้ายเมรุ (เมรุอยู่ทางซ้ายมือของผู้เดิน) เริ่มจากบันไดหน้าเมรุ

- เจ้าภาพและญาติของผู้ตายต้องเดินเข้าขบวนตามศพเวียนรอบเมรุด้วย

- ถ้าศพนั้นมีรูปถ่ายของผู้ตาย ซึ่งนำไปตั้งไว้ในที่บำเพ็ญกุศล ก็ต้องมีผู้ถือรูปถ่ายนำหน้าศพไปในขบวน โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ และมีคนถือเครื่องทองน้อยหรือกระถางธูปนำหน้าศพ

- ลำดับการแห่ศพ ถือหลัก "พระ-กระถางธูป-รูปภาพ-ศพ-ญาติมิตร"

- เมื่อได้นำศพเวียนรอบเมรุครบ 3 รอบแล้ว เจ้าหน้าที่นำศพขึ้นตั้งบนเมรุ

การทอดผ้าบังสุกุล

- การทอดผ้าบังสุกุลนั้น เจ้าภาพจะต้องพิจารณาว่า แขกผู้มีเกียรติชั้นผู้ใหญ่ที่เชิญไว้ มีจำนวนเท่าใดก็จัดผ้าไตรเท่ากับจำนวนแขกชั้นผู้ใหญ่ ส่วนจำนวนมากน้อยเท่าใดนั้นควรให้เป็นไปตามความเหมาะสม

- การเชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุล เจ้าภาพจะต้องไปเชิญด้วยตนเอง โดยมีผู้ถือพานผ้าไตรตามเจ้าภาพไปด้วย

- แต่ถ้าแขกที่เป็นประธานเป็นผู้ใหญ่ชั้นสูง หรือเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของเจ้าภาพ ก็ควรถือพานผ้าไตรไปเชิญด้วยตนเอง

- เมื่อแขกผู้รับเชิญลุกจากที่นั่ง เจ้าภาพหรือผู้ถือพานผ้าไตรก็เดินตามแขกผู้นั้นไป

- เมื่อขึ้นบันไดเมรุแล้วก็ส่งมอบผ้าไตรให้ ผู้ทอดผ้าก็จะรับผ้าไตรนำไปวางลงตรงที่สำหรับทอดผ้า แต่ถ้าไม่มีการจัดที่สำหรับทอดผ้าไว้ ก็วางผ้าไตรนั้นลงบนหีบศพทางด้านหัวนอนศพ แล้วผู้ทอดผ้าก็คอยอยู่จนกว่าพระสงฆ์จะมาชักผ้าบังสุกุล

- โดยลำดับการเชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุลนั้น จะเชิญแขกผู้มีอาวุโสน้อยไปหามากตามลำดับ และเชิญประธานในพิธีขึ้นทอดผ้าบังสุกุลเป็นอันดับสุดท้าย

- เมื่อประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เชิญท่านประกอบพิธีประชุมเพลิงต่อไป

วิธีปฎิบัติการเผาศพ

- นิยมยืนตรง ห่างจากศพ ประมาณ 1 ก้าว

- ถ้าแต่งเครื่องแบบข้าราชการ นิยมยืนตรงโค้งคำนับ

- ถ้ามิได้แต่งเครื่องแบบข้าราชการ นิยมน้อมไหว้ พร้อมทั้งธูป เทียน ดอกไม้จันทน์ที่อยู่ในมือ

(เฉพาะศพนั้นมีอาวุโสสูงกว่าตน หรือ มีอาวุโสรุ่นราวคราวเดียวกัน)

- ขณะที่ยืนตรงโค้งคำนับ หรือ น้อมไหว้นั้น ควรตั้งจิตขอขมาต่อศพนั้นว่า

"กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง โหตุ" (ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่าน ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ขอท่านได้โปรด อโหสิกรรมให้แก่ ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

- เมื่อขอขมาต่อศพเสร็จแล้ว น้อมตัวลงวางธูป เทียน ดอกไม้จันทน์ ที่เชิงตะกอน ในขณะนั้นควรพิจารณาตัวเองถึงความตาย ว่า "ร่างกายของมนุษย์เรานี้ ย่อมมีความตาย เป็นธรรมดาอย่างนี้ เป็นปกติอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความตายอย่างนี้ไปได้เลย" ดังคำพระที่ว่า "อะยัมปิ โข เม กาโย เอวัง ธัมโม เอวัง ภาวี เอวัง อะนะตีโต"

- เมื่อพิจารณาตัวเองระลึกนึกถึงความตายจบแล้ว ยืนตรง โค้งคำนับ หรือ ยกมือไหว้ศพอีกครั้ง พร้อมกับนึกอธิฐานในใจว่า "ขอจงไปสู่สุคติๆเถิด"

เผาจริง-เผาหลอก

- ธรรมเนียมปฎิบัติที่นิยมกันในปัจจุบันสำหรับการฌาปนกิจศพ จะมีพิธีการ "เผาหลอก" ก่อน แล้วจึง "เผาจริง" คือจะให้แขกที่มาร่วมงานทั้งหลาย ไปวางธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ที่หน้าหรือใต้หีบศพ เพื่อแสดงความเคารพศพ ซึ่งเสมือนเป็นการทำพิธีเผาศพโดยสมมติ ยังไม่ใช่พิธีการเผาศพจริง ครั้นเมื่อแขกผู้ร่วมพิธีได้ทำความเคารพศพโดยสมมติหมดแล้ว จึงนิยมให้วงศาคณาญาติมิตรสหายสนิทผู้ใกล้ชิดกับผู้ตายขึ้นไปทำการเผาศพจริงอีกครั้งหนึ่ง จึงเสร็จพิธีเผาศพบริบูรณ์

- การเผาจริง-เผาหลอกนี้เป็นธรรมเนียม เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยแต่เดิมนั้น การฌาปนกิจศพจะมีแต่การ "เผาจริง" เพียงอย่างเดียวและจะทำกันในเวลาช่วงบ่ายถึงเย็น แต่เนื่องจากเกรงว่า การเผาศพจะก่อให้เกิดกลิ่น ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้มาร่วมงาน จึงเกิดธรรมเนียมใหม่คือ ให้มีการปิดหีบไว้ก่อนกันไม่ให้ไฟลามได้ ต่อเมื่อผู้คนที่มาร่วมงานได้กลับไปหมดแล้ว จึงจะทำการ "เผาจริง" โดยจะเหลือแต่เพียงเจ้าภาพ ญาติมิตรสหายสนิทเท่านั้น ที่อยู่ร่วมพิธี

- ดังความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ เกี่ยวกับที่มาของพิธีเผาจริงและเผาหลอก ว่า "…แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวงในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพเดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิง จึงปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสียและคอยระวังถอนธุปเทียนออกเสียจากภายใต้ เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ตอนดึกเมื่อผู้คนคนไปช่วยงานกลับกันหมดแล้ว จึงเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ …ดังนั้นจึงเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิทเผาอีกครั้ง 1 เมื่อเปิดเพลิงกรมนเรศร์ เป็นผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเป็นผู้ตั้งศัพท์ เผาพิธี และ เผาจริง ขึ้น…"

ตัวอย่างลำดับพิธีการฌาปนกิจศพ

เวลา 09.00 น. - เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล

เวลา 10.00 น. - นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่อาสน์สงฆ์

เวลา 10.20 น. - เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

เวลา 10.25 น. - อาราธนาพระปริตร (กรณีจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ตอนเช้า)

เวลา 10.30 น. - พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์

เวลา 11.00 น. - ถวายภัตตาหารเพลและเครื่องไทยธรรม

เวลา 12.00 น. - เลี้ยงอาหารกลางวันแก่ญาติมิตรและแขกที่มาในงาน

เวลา 14.00 น. - นิมนต์พระเทศน์ขึ้นบนอาสน์สงฆ์

เวลา 14.05 น. - เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนกัณฑ์เทศน์และหน้าที่ตั้งศพ

เวลา 14.10 น. - อาราธนาศีล อาราธนาธรรม พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา จบแล้วถวายกัณฑ์เทศน์

เวลา 15.00 น. - นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน เพื่อสวดมาติกาบังสุกุล

เวลา 15.30 น. - เคลื่อนศพเวียนเมรู 3 รอบ (พระสงฆ์นำศพ 1 รูป)

เวลา 15.45 น. - เชิญศพขึ้นสู่เมรุ

เวลา 16.00 น. - อ่านคำและยืนไว้อาลัย (ถ้ามี)

- เจ้าภาพเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล (ลำดับจากผู้อาวุโสน้อยไปมาก)

- ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าหีบศพ

- เจ้าภาพเชิญแขกขึ้นประชุมเพลิง

7. การเก็บอัฐิ

- ในการกำหนดเวลาเก็บอัฐินั้นสุดแล้วแต่เจ้าภาพจะต้องการ โดยนิยมปฎิบัติกัน 2 แบบคือ

1) ทำพิธีเก็บอัฐิในวันเผา : ใช้ปฎิบัติในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฌาปนกิจศพที่จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลอัฐิติดต่อกัน เพื่อรวบรัดงานให้เสร็จภายในวันนั้น

2) ทำพิธีเก็บอัฐิในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น : ใช้ปฎิบัติในงานเผาศพที่เจ้าภาพ ประสงค์จะทำบุญอัฐิในวันรุ่งขึ้น (ทำบุญสามหาบ) หรือยังไม่จัดทำบุญอัฐิเพราะยังไม่พร้อม

- เจ้าภาพต้องแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ของวัดทราบ และจัดเตรียมโกศสำหรับบรรจุอัฐิ น้ำอบหรือน้ำหอม ดอกไม้ และอาหารคาวหวานสำหรับถวายพระสงฆ์

- โดยนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณา "บังสุกุลอัฐิ" หรือที่เรียกว่า "แปรรูป" หรือ "แปรธาตุ"

- ในการเก็บอัฐินั้น เจ้าหน้าที่สัปเหร่อ นิยมทำพิธีแปรธาตุ คือ นำเอาอัฐิของผู้ตายที่เผาแล้ว มาวางเป็นรูปร่างคน โดยวางโครงร่างให้หันห้วไปทางทิศตะวันตกแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ให้พิจารณา "บังสุกุล ตาย" ก่อน แล้วแปรธาตุโครงร่างกระดูกให้หันหัวไปทางทิศตะวันออก แล้วนิมนต์พระสงฆ์ให้พิจารณา "บังสุกุลเป็น" อีกครั้งหนึ่ง

- ต่อจากนั้นจึงให้เจ้าภาพเก็บอัฐิใส่โกศ โดยเลือกเก็บอัฐิจากร่างกาย รวม 6 แห่ง คือ กระโหลกศีรษะ 1 ชิ้น แขนทั้ง 2 ขาทั้ง 2 และ ซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น

- ส่วนอัฐิที่เหลือ รวมทั้ง "อังคาร" (ขี้เถ้า) ทั้งหมดนิยมกวาดรวมเก็บใส่ลุ้งหรือหีบไม้ แล้วเอาผ้าขาวห่อเก็บไว้ เพื่อนำไปบรรจุในที่อันเหมาะสมหรือนิยมนำไปลอยในทะเล

- เมื่อเก็บอัฐิเสร็จแล้ว นำอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาพิจารณาบังสุกุล (หรือปัจจุบันจะนิยมทำแบบย่อ คือ หลังจากพระสงห์ชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็ประเคนไทยธรรมบนเมรุเลย)

อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ควรเตรียมพร้อมก่อน

1) โกศ สำหรับใส่อัฐิ

2) ลุ้งหรือหีบไม้ สำหรับใส่อัฐิและอังคารที่เหลือ (หรือใช้ผ้าขาว)

3) ผ้าขาว สำหรับห่อลุ้งหรือหีบไม้ (ประมาณ 2 เมตร)

4) ผ้าบังสุกุล สำหรับทอดบังสุกุล ก่อนเก็บอัฐิ (นิยมใช้ผ้าสบง)

5) น้ำอบไทย 1 ขวด

6) ดอกมะลิ ดอกไม้ เหรียญเงิน (สำหรับโรยบนอัฐิ)

7) อาหารคาวหวาน จัดใส่ปิ่นโต (สำหรับถวายพระสงฆ์)

8) ดอกไม้ธูปเทียน ไทยธรรม (ตามจำนวนพระสงฆ์)

พิธีสามหาบ

พิธีเก็บอัฐินี้ โบราณเรียกว่า "พิธี 3 หาบ" คือ

1. หาบของนุ่ง (สบงจีวร)

2. หาบของกิน (อาหารคาว-หวานถวายพระ)

3. หาบของใช้ (เตา หม้อ ถ้วยชาม เป็นต้น)

ญาติพี่น้องช่วยกันหาบเดินเวียนเมรุ 3 รอบ ก่อนเก็บอัฐิ เรียกกันว่า "พิธีเดินสามหาบ" แล้วนำหาบสิ่งของไปตั้งเรียงไว้ที่อาสน์สงฆ์ เจ้าภาพนำเอาผ้าไตรจีวรไปทอดที่กองอัฐิ นิมนต์พระสงห์ 3 รูป พิจารณาผ้าบังสุกุลเสร็จแล้วถวายสิ่งของสามหาบ พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศกุศลให้ผู้ตาย เรียกว่า "พิธีสามหาบ" ... ในปัจจุบันพิธีสามหาบ มีจัดกันน้อยลง โดยนิยมจัดอาหารใส่ปิ่นโตถวายพระแทน เพราะไม่ยุ่งยาก สะดวกต่อการปฎิบัติ

บรรจุอัฐิ

- อัฐิที่เหลือจากการเก็บใส่โกศ ซึ่งได้รวบรวมใส่ห่อผ้าไว้นั้น บางรายก็จะซื้อเจดีย์มาบรรจุไว้ที่วัด บางรายก็บรรจุไว้ในเจดีย์หรือพระปรางค์ ซึ่งภายในได้ทำไว้เป็นช่องๆ บางวัดก็ทำที่สำหรับบรรจุอัฐิไว้ตามผนัง กำแพง ระเบียง ของวิหารหรือโบสถ์

- เมื่อญาติได้ตกลงแล้วว่าจะทำการบรรจุอัฐิไว้ที่ใด ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่จัดการ ณ ที่นั้น

- เมื่อเวลาบรรจุ จุดธูปเทียนเคารพอัฐิและบอกผู้ตายว่าจะบรรจุอัฐิไว้ในที่นั้น มีโอกาสเมื่อใดก็จะมาบำเพ็ญกุศลให้

- พร้อมกันนั้น นิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป มาบังสุกุลให้แก่อัฐิ โดยมีของถวายพระ พร้อมด้วยใบปวารณาตามสมควร

- เมื่อได้บังสุกุลเสร็จแล้ว ก็ใช้น้ำอบหรือน้ำหอมประพรมที่ห่ออัฐินั้น แล้วจึงนำเข้าในที่บรรจุ

8. ลอยอังคาร

คำว่า "ลอย" คือการปล่อยให้ลอยตามน้ำ (หรืออากาศ)

คำว่า "อังคาร" คือ เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว

คำว่า "ลอยอังคาร" จึงหมายถึง การนำอัฐิไปลอยในน้ำ โดยนิยมไปลอยกันในแม่น้ำหรือทะเล

เหตุผลที่คนนิยมลอยอังคารและอัฐิหลังจากฌาปนกิจศพแล้วนั้น เพราะมีความเชื่อกันว่าร่างกายของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมกัน ครั้นเมื่อร่างกายแตกดับแล้วก็ควรให้มันกลับไปอยู่ในสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดย "น้ำ" เป็นหนึ่งในธาตุหลักที่มีลักษณะเย็น สงบ ชุ่มชื่น อีกทั้ง "น้ำ" ยังเป็นสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับทุกสรรพสิ่ง ทำให้เกิดความเชื่อถือตามคตินิยมที่ว่า การนำอัฐิและอังคารไปลอยที่ในแม่น้ำหรือทะเล จะทำให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมีความสุข มีความสงบ ร่มเย็น ชุ่มชื่น เหมือนดัง "น้ำ"

เอกสารอ้างอิง : พิธีการ-พิธีกรรม (ของกองทัพเรือ); คู่มือการประกอบพิธีศพ (ของกรมตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)