ประวัติหน่วยงาน

ภารกิจหน้าที่

  • กองการฝึก กองเรือยุทธการ มีหน้าที่ดำเนินการฝึกกำลังพลของ กองเรือยุทธการ พัฒนาการฝึก จัดทำแบบฝึกและคู่มือการฝึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการฝึกกำลังพลทดแทนและกำลังพลสำรองให้แก่ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ เพื่อปฎิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่กองทัพไทย

ประวัติความเป็นมา

  • ในวันที่ 20 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี จะเป็นวันคล้ายวันสถาปนา กองการฝึก กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นหน่วยครูในกองเรือยุทธการ ที่ฝึกอบรมกำลังพลของเรือ ก่อนลงปฏิบัติหน้าที่ในเรือ และฝึกอบรมให้กับกำลังพลของเรือในสาขาการปฎิบัติต่างๆ ที่รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มความชำนาญให้กับกำลังพลประจำเรือนั้น ๆ ของหน่วยขึ้นตรง กองเรือยุทธการ

  • ซึ่งจากประวัติความเป็นมาแล้ว จะถือเอาวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2485 อันเป็นวันที่กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้จัดตั้ง โรงเรียนปืนใหญ่ขึ้น ตามคำสั่งกองทัพเรือ ที่ 81/85 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2485 โดยที่โรงเรียนปืนใหญ่ในขณะนั้น ตั้งอยู่บนเรือหลวงเจ้าพระยา (ลำแรก)

  • และต่อมาในปี พ.ศ.2486 กองทัพเรือได้เปลี่ยนสภาพของโรงเรียนปืนใหญ่ เป็นโรงเรียนการอาวุธ ขึ้นตรงต่อ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และได้ย้ายโรงเรียนการอาวุธไปตั้งที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 เป็นต้นมา

  • ต่อมากองทัพเรือ ได้พิจารณาเห็นว่า การฝึกอบรมทางด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการฝึกอาวุธก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น การฝึกป้องกันความเสียหาย การช่างกล การปกครอง และการเป็นครู เป็นต้น กองทัพเรือ จึงได้เปลี่ยนสภาพโรงเรียนการอาวุธเป็น “กองการฝึก กองเรือยุทธการ” (กฝร.) ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2498 โดยมอบหมายให้ กองการฝึก กองเรือยุทธการ ทำหน้าที่ฝึกอบรมทั้งทางด้านอาวุธ และด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อกำลังพลของ กองเรือยุทธการ มาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน

  • จึงกล่าวได้ว่า กองการฝึก กองเรือยุทธการ ได้ถือกำเนิด และได้รับการสถาปนามาตั้งแต่วันที่กองทัพเรือ ได้มีคำสั่งจัดตั้งโรงเรียนปืนใหญ่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2485 นับถึง พ.ศ.2559 เป็นเวลา 74 ปี

วิสัยทัศน์

  • เป็นหน่วยฝึกศึกษาที่เป็นเลิศในทุกสาขาปฏิบัติการทางเรือ เพื่อฝึกอบรมกำลังพลของ กองเรือยุทธการ ให้มีความพร้อมรบสูงสุด

ค่านิยม

  • เรียนรู้ตลอดชีวิต ติดตามเทคโนโลยี มีความเป็นผู้นำ ชำนาญในอาชีพ

พันธกิจ

  1. ฝึกกำลังพลของ กร. ให้มีความรู้และทักษะครอบคลุมทุกสาขาปฏิบัติการทางเรือ

  2. ปรับปรุงหลักนิยมและยุทธวิธี การปฏิบัติการทางเรือให้มีความทันสมัย

  3. ตรวจสอบและประเมินผล ขีดความสามารถกำลังทางเรือ รวมทั้งการฝึกทบทวนกำลังพลของ กร. ให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติราชการ ตามที่ กร. มอบหมาย

  4. นำระบบสารสนเทศ มาใช้ในการบริหารจัดการและสนับสนุนการฝึกอบรม